30 ปี "คิวทอง" จาก "ซูม" ถึง "ศักดา"
20 ส.ค. 58 |
ผมกับศักดา รัตนสุบรรณ หรือ “คิวทอง” รู้จักกันและสนิทสนมกันมา 45 ปีแล้วนะครับ ตั้งแต่ผมยังเป็นหนุ่มอายุเฉียดๆ 30 จนเดี๋ยวนี้ เกินหลัก 70 เข้าไปแล้ว เราทำงานที่หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย สามเหลี่ยมดินแดงด้วยกัน คุณศักดาเป็นนักข่าวกีฬา ผมเพิ่งกลับจากอเมริกาได้เพียง 7 วัน ก็มีคนไปตามมาเป็นพนักงานแปลข่าวต่างประเทศของฝ่ายข่าวต่างประเทศ ก็พอจะเห็นหน้ากันอยู่ เพราะกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับในพ.ศ.นั้น มิได้ใหญ่โตอะไรนัก เดินไปเดินมาก็ต้องเจอกันจนได้ แต่แล้วก็มีเหตุการณ์สำคัญและถือเป็นประวัติศาสตร์เล็กๆ ของการทำหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยเกิดขึ้นเรื่องหนึ่ง ... นั่นก็คือ หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ 2 ฉบับ ที่เป็นคู่กัดกันอยู่ในสมัยโน้น ไทยรัฐ กับ เดลินิวส์ ต่างแข่งกัน ทำข่าวฟุตบอลโลก ปี 1970 หรือ พ.ศ. 2513 ที่เม็กซิโกเป็นเจ้าภาพ ขึ้นเป็นหัว 3 ชั้น หน้า 1 ทุกวัน หลายๆ ปีก่อนหน้านี้ ข่าวฟุตบอลโลกเป็นแค่ข่าวเล็กๆ ในหน้ากีฬาเท่านั้น เพราะคนไทยยังไม่รู้จักฟุตบอลโลก แม้จะชอบดูฟุตบอลกันบ้างแล้วก็ตาม ข่าวฟุตบอลที่เคยขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์ยุคโน้น มีเพียงข่าวฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์เท่านั้น ซึ่งถือเป็นข่าวกีฬาใหญ่ที่สุด เพราะก่อนฟุตบอลแข่ง จะมีนิสิต นักศึกษา แต่งชุดสีชมพูกับสีเหลืองแดง ขึ้นรถแห่ไปทั่วกรุง จู่ๆ เมื่อ 2 ยักษ์ใหญ่ เอาข่าวฟุตบอลโลกที่เม็กซิโกเป็นเจ้าภาพมาขึ้นหน้า 1 แถมเป็นหัว ตัวไม้ พร้อมข่าวยาวเหยียดด้วย จึงกลายเป็นประวัติศาสตร์ใหม่ของวงการหนังสือพิมพ์ เพราะหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับ ขายดีมาก ต้องเพิ่มยอดอุตลุด ซึ่งเป็นผลให้ฉบับอื่นๆ ยอดตกไปตามๆ กัน รวมทั้งพิมพ์ไทยของเรา พี่มานะ แพร่พันธุ์ หัวหน้ากองบก. จึงต้องแก้เกม ตัดสินใจผลักดันข่าวฟุตบอลโลกให้ขึ้น หัวใหญ่ หน้า 1 พิมพ์ไทยด้วย ในวันต่อมา นั่นแหละครับที่ทำให้นักแปลข่าวต่างประเทศอย่างผม มีโอกาสไปทำงานร่วมกับฝ่ายข่าวกีฬา เพราะจะต้องไปนั่งแปลข่าว และเขียนข่าวบอลโลกที่ไหลออกมาจากเครื่องโทรพิมพ์ยาววันละหลายๆ วา ให้ข่าวกีฬานำไปส่งให้หน้า 1 เพื่อแข่งกับฉบับอื่น ปรากฎว่าเราสู้เขาได้แฮะ เพราะหลังจากนั้นยอดจำหน่ายของพิมพ์ไทยก็กลับมาเป็นปกติ และเมื่อฟุตบอลโลกครั้งนั้นจบลง ด้วยชัยชนะเป็นของบราซิล ผมก็มีโอกาสเขียนคอลัมน์กีฬาเพิ่มอีก 1 คอลัมน์ ใช้นามปากกาว่า “สิงห์เจ้าเนื้อ” พร้อมกับกลายเป็นเพื่อนสนิทสนมกับนักข่าวสายกีฬาของพิมพ์ไทย โดยเฉพาะ ศักดา รัตนสุบรรณ และ จำนงค์ จันทรสำเภา ที่ก็ยังคบหาสมาคมกันอยู่จนถึงบัดนี้ เมื่ออาณาจักรพิมพ์ไทยล่มสลาย เราก็แยกย้ายไปทำงานแบบกระจัดกระจายสู่ฉบับอื่นๆ ตามจังหวะและโอกาสของแต่ละคน ผมซึ่งมีนามปากกา “ซูม” เขียนข่าวบันเทิงอยู่ที่พิมพ์ไทย อีกนามปากกาหนึ่ง มีโอกาสมาอยู่ไทยรัฐ ใช้นามปากกาเดียวกันนี้ เขียนคอลัมน์ทั่วๆ ไป สไตล์เฮฮาอยู่ที่หน้า 5 ในชื่อคอลัมน์ “เหะหะพาที” เสาร์-อาทิตย์ ค่อยไปช่วยเขียนให้หน้ากีฬาไทยรัฐ ใช้นามปากกา “จ่าแฉ่ง” อีกหนึ่งคอลัมน์ ส่วน ศักดา รัตนสุบรรณ ไปอยู่ที่ข่าวกีฬา เดลินิวส์ ค่อยๆ ไต่เต้าจากนักข่าวธรรมดาๆ ขึ้นเป็นหัวหน้าข่าวกีฬาในที่สุด ช่วงนี้ แม้เราจะไม่ค่อยเจอะเจอกันบ่อยนัก แต่ก็จะติดตาม ถามหากันอยู่เสมอๆ ทุกครั้งที่เจอกัน ศักดา จะเรียกผมว่า “สิงห์” ซึ่งมาจากนามปากกา “สิงห์เจ้าเนื้อ” ที่ผมเคยใช้ที่พิมพ์ไทย ผมทราบมานานแล้วว่า ศักดา มีฝีมือในการเล่น สนุกเกอร์อย่างมาก และจะแว่บเดินสายไปหาเงินใช้ตามโต๊ะสนุกเกอร์ต่างๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะตอนที่เราอยู่พิมพ์ไทย เงินเดือนไม่ค่อยออก แต่ศักดาก็ยังมีเงินมาเลี้ยงข้าวแกงตอนเย็นๆ ให้เพื่อนๆ อยู่เสมอ จากการหลบเดินสายไปตามโต๊ะสนุ้กฯ อย่างที่ว่า เมื่อมาอยู่เดลินิวส์ ศักดามีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้ สนุกเกอร์ ขึ้นมาเป็นกีฬาที่สังคมไทยยอมรับ จากที่เคยคิดว่าเป็นโต๊ะการพนันและเยาวชนไม่ควรเกี่ยวข้อง สนุกเกอร์เริ่มกลายเป็นกีฬา ทำให้เมืองไทยเรามีนักกีฬาสนุกเกอร์โดดเด่นขึ้นหลายต่อหลายคน จนมาถึงยุคทองของต๋อง ศิษย์ฉ่อย และยุคทองของกีฬาสนุกเกอร์ ที่มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันนัดสำคัญๆ ทั้งที่ ต๋องลงแข่ง หรือ นักสอยคิวระดับโลกต่างๆ แข่งกันเอง พวกเราทราบดีว่า ศักดา เป็นผู้อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น ทั้งในการผลักดันสนุกเกอร์ให้เป็นกีฬา ผลักดันให้ต๋องขึ้นมาเป็นขวัญใจชาวไทย รวมถึงการผลักดันให้คนไทย หันมาดูสนุกเกอร์ระดับโลกจนติดหนับ และยังตามดูมาจนถึงวันนี้ เราต้องยอมรับว่าลีลาการพากย์สนุกเกอร์ของศักดา รัตนสุบรรณ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แฟนๆ จอตู้หลงใหลในกีฬาประเภทนี้ ด้วยน้ำเสียงที่น่าฟังและการอ่านเกมได้อย่างถูกต้องว่า จะต้องแทงอย่างโน้นอย่างนี้ในไม้ต่อไป รวมทั้งการให้เกร็ดความรู้ต่างๆ แบบไม่มากไป ไม่น้อยไป ของศักดา ถือเป็นต้นตำรับของการบรรยายสนุกเกอร์ทางทีวี มาจนถึงปัจจุบัน พร้อมๆ กันนี้ ศักดาก็ยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการออกนิตยสารขึ้นมาฉบับหนึ่ง ได้แก่ นิตยสาร “คิวทอง” ที่ท่านผู้อ่านกำลังถืออยู่ในมือนี่แหละครับ เป็นนิตยสารเกี่ยวกับสนุกเกอร์ฉบับแรกของประเทศไทย และเป็นฉบับเดียวที่ยืนหยัดมาได้จนถึงวันนี้ และครบรอบ 30 ปีพอดิบพอดี สำหรับฉบับนี้ การทำหนังสือหรือนิตยสารให้อยู่รอดสักฉบับ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่นิตยสาร “คิวทอง” สามารถยืนหยัดมาได้ถึง 30 ปี ต้องยกนิ้วให้เลยว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของวงการสื่อมวลชน ไม่เพียงแต่จะครบ 30 ปี เท่านั้น ผมเชื่อว่านิตยสารฉบับนี้ จะอยู่ต่อไปอีกนานแสนนานเป็นปีที่ 35 เป็นปีที่ 40 ไปเรื่อยๆ เพราะกีฬาสนุกเกอร์ยังคงเป็นที่นิยมของคนไทย แม้ว่าปัจจุบันเราจะไม่มีดาราระดับขวัญใจเหมือนยุคต๋อง ศิษย์ฉ่อย แต่คนไทยก็รู้จักนักสนุกเกอร์ระดับโลกกันอย่างทั่วถึง และกลายเป็นแฟนสนุกเกอร์โลกเข้าเส้นเลือดจำนวนมาก ถ่ายทอดผ่านทางทรู วิชั่นส์ทีไร ต้องมีคนตามดูกันตรึมอยู่เสมอ จนทำให้ผมมั่นใจว่า สนุกเกอร์จะเป็นกีฬาที่คนไทยนิยมไปอีกนานแสนนาน ซึ่งหมายถึงว่านิตยสาร “คิวทอง” จะมีโอกาสยืนหยัดไปอีกนานแสนนานพอๆ กัน ช่วงนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 40 ปี ก่อนก็แล้วกัน หรือจากนี้ไปอีก 10 ปี เผื่อว่าผมจะมีโอกาสได้เขียนให้คุณศักดา อีกครั้ง เพราะอีก 10 ปี ข้างหน้า ผมจะมีอายุแค่ 84 ปี เท่านั้นเองแหละครับ
“ซูม ไทยรัฐ” ** ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทองฉบับพิเศษ ฉลองครบรอบ 30 ปี ฉบับที่ 393 เดือน สิงหาคม 2558 |