แทงลูกกลมๆ ให้ไหลลงหลุม

29 ก.ย. 58

ไม่น่าเชื่อว่าการเอาไม้ยาวๆ แทงลูกกลมๆ บนโต๊ะบิลเลียดให้ไหลลงหลุมเป็นความสุขของคนเล่น

ผมกล้ายืนยันว่ามีความสุขจริงๆ ไม่ได้สุขอย่างเดียว ตอนตบลูกลงหลุมยังอร่อยมือด้วย เพราะผมเคยเล่นสนุกเกอร์สมัยเริ่มเป็นหนุ่ม

น่าเสียดายที่สมัยนั้น การเล่นบิลเลียดหรือสนุกเกอร์ยังไม่ถือว่าเป็นกีฬา

กลับมองว่าเป็นการพนัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ใหญ่จึงห้ามไม่ให้เด็กเข้าโรงบิลเลียดเด็ดขาด

ดูเหมือนมีกฎหมายห้ามด้วย

ขนาดห้ามเด็กเล่นบิลเลียด อีกทั้งทางการยังให้มีการเปิด-ปิดเป็นเวลาอีกต่างหาก

เมืองไทยก็ยังอุตส่าห์มีนักสนุกเกอร์ติดอันดับ 3 ของโลก

นักสนุกเกอร์ที่ว่าคือ ต๋อง  ศิษย์ฉ่อย

ยุคที่ต๋อง ศิษย์ฉ่อย เฟื่อง ทำให้คนไทยโดยเฉพาะเด็กไทยเริ่มหันมาเล่นสนุกเกอร์กันมาก จนกลายเป็นที่ยอมรับว่า

สนุกเกอร์ไม่ได้เป็นการพนัน แต่เป็นกีฬาประเภทหนึ่งที่น่าสนใจและทางการน่าสนับสนุน

ถ้าผมจำไม่ผิด นิตยสารสนุกเกอร์คิวทองที่มีคุณศักดา รัตนสุบรรณ เป็นบรรณาธิการ ก็ได้เกิดขึ้นในช่วงนี้แหละ คือช่วงที่ต๋อง ศิษย์ฉ่อย กำลังโด่งดัง

ว่ากันโดยความจริงแล้ว การทำหนังสือกีฬาเฉพาะอย่าง ไม่ใช่ของง่ายที่ทำให้ติดตลาดได้

นิตยสารเกี่ยวกับกีฬาเฉพาะอย่างหลายประเภท เกิดขึ้นได้ไม่กี่ฉบับก็ต้องหยุดไป เหลืออยู่เพียงไม่กี่ปก

ในจำนวนนี้ก็มีนิตยสารสนุกเกอร์คิวทองรวมอยู่ด้วย แล้วก็อยู่มานานจนถึงปีนี้ครบ 30 ปีเข้าไปแล้ว

ที่เป็นเช่นนี้ได้ ผมขอวิเคราะห์ว่าเกิดจากความนิยมเล่นสนุกเกอร์และยอมรับเป็นกีฬา

และที่สำคัญก็คือ ผู้ปกครองยอมรับให้ลูกหลานเข้าโต๊ะสนุ้ก เพราะเป็นกีฬาที่รัฐบาลรับรอง ให้เงินอุดหนุนไปแข่งซีเกมส์ – เอเชี่ยนเกมส์ และชิงแชมป์โลก สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติก็เพราะไอ้ลูกกลมๆ

ซึ่งในเวลาต่อมา สนุกเกอร์ก็เป็นที่ยอมรับ จนถูกบรรจุใน พ.ร.บ. กีฬา เมื่อปี 2528 ดังนั้นสนุกเกอร์จึงไม่ใช่กีฬาของพวกกุ๊ยอีกต่อไป

เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสได้พบกับคุณศักดา ผมอดที่จะตั้งคำถาม ไม่ได้ว่า

“คุณศักดารู้ไหมว่า อะไรอยู่เบื้องหลังที่ทำให้สนุกเกอร์โด่งดังไปทั่วโลก”

คุณศักดาหยุดคิด แต่ไม่ได้ตอบ ผมจึงต้องตอบแทนว่า

“ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสนุกเกอร์ก็คือทีวีสี”

คุณศักดาทำสีหน้างงๆ ผมจึงอธิบายต่อ

“หากมีแต่ทีวีขาวดำ รับรองว่า ไม่มีทางถ่ายทอดสนุกเกอร์ได้ และไม่รู้แทงลูกไหนเพราะมันดำไปหมด”

คุณศักดาเลยถึงบางอ้อ

เนื่องในโอกาสนิตยสารสนุกเกอร์คิวทองครบ 30 ปี ผมขออวยพรให้คิวทองอยู่ต่อไปอีกสักร้อยปีเป็นอย่างน้อย ถึงแม้วันนั้นผมไม่ได้อ่านนิตยสารเล่มนี้เหมือนเคย ก็ไม่เป็นไรครับ

 

 

ไมตรี  ลิมปิชาติ

** ตีพิมพ์ในนิตยสารคิวทองฉบับพิเศษ ฉลองครบรอบ 30 ปี ฉบับที่ 393 เดือน สิงหาคม 2558