กฎ-กติกา กีฬาพูลบิลเลียด ของ World Pool-Billiards Association (WPA)


8. คำจำกัดความในกติกานี้

คำจำกัดความต่อไปนี้ สามารถใช้ได้กับกีฬาพูลทุกประเภท

8.1   ส่วนต่างๆ ของโต๊ะ
ส่วนต่างๆ ของโต๊ะพูล
ส่วนต่างๆ ของโต๊ะพูล
คำจำกัดความต่อไปนี้ คือคำที่ใช้เรียกส่วนประกอบต่างๆ ของโต๊ะพูล รายละเอียดเกี่ยวกับขนาดต่างๆ จะระบุไว้ใน คู่มืออุปกรณ์ที่ใช้ในการแข่งขันของ WPA “โต๊ะพูล” ประกอบด้วยขอบโต๊ะ ชิ่ง พื้นผิวของโต๊ะ และหลุมต่างๆ “Foot End” ของโต๊ะ จะเป็นด้านที่ตั้งลูกเป้า ส่วน “Head End” จะเป็นด้านที่แทง “ลูกคิวบอล” ออกไป “พื้นที่หลังเส้นเมือง” คือพื้นที่ระหว่าง “เส้นเมือง” กับ “ชิ่งล่าง (Head Rail)” โดยไม่รวมเนื้อที่บน “เส้นเมือง” “ชิ่ง” ทั้งหมด ด้านบนของขอบโต๊ะ และหลุม รวมเป็นส่วนหนึ่งของ ขอบโต๊ะ “เส้น Long String” เป็นเส้นตรงที่ผ่ากลางโต๊ะในแนวตั้ง “เส้น Head String” คือ “เส้นเมือง” แบ่ง 1 ใน 4 ของโต๊ะ ด้านในเมือง “เส้น Foot String” เป็นเส้นที่แบ่ง 1 ใน 4 ของโต๊ะด้านตรงข้าม “เส้น Center String” เป็นเส้นที่แบ่งครึ่งของโต๊ะในแนวขวาง จากกึ่งกลางของหลุมกลาง 2 หลุมลากเข้าหากัน บนขอบโต๊ะ จะมีการกำหนดตำแหน่งของจุดแบ่งของโต๊ะ เรียกว่า “จุด Diamond” โดยแบ่งโต๊ะออกเป็น 1 ใน 4 ของด้านกว้าง และ 1 ใน 8 ของด้านยาว วัดจากจมูกหลุมด้านหนึ่งไปหาอีกด้านหนึ่ง พื้นผิวของโต๊ะจะต้องเรียบ ได้ระดับ ปูด้วยผ้า และมีจุดต่างๆ ที่ต้องทำการกำหนดไว้ ดังนี้
  1. “Foot Spot” – ตรงจุดตัดของเส้น “Foot String” กับเส้น “Long String”
  2. “Head Spot” – ตรงจุดตัดของเส้น “Head String” กับเส้น “Long String”
  3. “Center Spot” – ตรงจุดตัดของเส้น “Center String” กับเส้น “Long String”
  4. “Triangle” – อาจจะมีการตีเส้นเป็นรูปสามเหลี่ยม หรืออาจมีเพียงมุมทั้ง 3 ด้าน เพื่อเป็นตำแหน่งที่จะต้องตั้งลูก ตามแต่เกมต่างๆ จะกำหนด
8.2   การแทง
การแทงเริ่มนับทันทีที่หัวคิวกระทบ “ลูกคิวบอล” ออกไปด้านหน้า การแทงจะสิ้นสุดลงเมื่อลูกทุกลูกหยุดหมุน หรือเคลื่อนไหว การแทงจะถือว่าไม่ผิดกติกา หากไม่มีการทำฟาล์วเกิดขึ้น
8.3   ลูกลงหลุม
“ลูกที่ถูกแทงลงหลุมไป” จะหล่นลงไปในหลุม หรือช่องเก็บลูก อาจผ่านทางระบบที่ทำไว้ให้ลูกที่ลงหลุมไปรวมอยู่ที่จุดเดียวกัน ลูกที่ค้างอยู่บนปากหลุมที่ไม่ลงเพราะมีลูกอื่นดันเอาไว้ ถือเป็นลูกที่ลงหลุม หากลูกที่ดันไว้มีการขยับออกไป หากลูกหยุดอยู่ที่ปากหลุมเกิน 5 วินาที แล้วหล่นลงไปเอง ไม่ถือว่าเป็นลูกที่ลงหลุม ดู ข้อ 1.7 การหยุดของลูกหลังเที่ยวแทง ในระหว่างช่วงเวลา 5 วินาทีดังกล่าว “ผู้ตัดสิน” ควรดูให้ดีว่า จะยังไม่มีการแทงไม้ต่อไปเกิดขึ้น ลูกที่กระดอนกลับออกมาจากหลุมขึ้นมาอยู่บนโต๊ะ ถือเป็นลูกที่ไม่ลงหลุม หาก “ลูกคิวบอล” ไปกระทบลูกที่ลงหลุมไปแล้ว (แต่ล้นปากหลุมออกมา) ถือว่า “ลูกคิวบอล” ได้ลงหลุมไปแล้ว โดยไม่คำนึงว่าลูกจะกระดอนกลับมาอยู่บนโต๊ะอีกหรือไม่ “ผู้ตัดสิน” จะช่วยนำลูกที่ล้นหลุมออกจากหลุม แต่เป็นความรับผิดชอบที่ผู้เล่นจะต้องตรวจเช็คเอง เพื่อป้องกันความผิดพลาด
8.4   แทงให้โดนชิ่ง
“การแทงลูกให้โดนชิ่ง” หมายถึง การแทงให้ลูกที่ไม่ติดอยู่กับชิ่งวิ่งไปให้กระทบชิ่ง ลูกที่ติดกับชิ่งอยู่แล้วก่อนการแทง ไม่ถือว่าเป็นลูกกระทบชิ่ง จนกว่าจะถูกแทงออกไปแล้ววิ่งไปกระทบชิ่งใหม่อีกครั้ง ลูกที่ถูกตบลงหลุม หรือกระเด็นออกจากโต๊ะ ถือว่าเป็นลูกที่ถึงชิ่งแล้ว ลูกที่อยู่ติดชิ่ง จะไม่ถือว่าเป็นลูกติดชิ่ง จนกว่า “ผู้ตัดสิน” ผู้เล่น หรือคู่แข่งขันจะขานว่าเป็นลูกที่ติดชิ่ง
8.5   ลูกตกโต๊ะ
“ลูกที่กระเด็นตกจากโต๊ะ” หมายถึง ลูกที่ไม่หยุดอยู่บนพื้นผิวของโต๊ะที่ใช้ในการเล่น โดยไม่ถูกตบลงหลุมไป ลูกที่กระเด็นไปโดนวัตถุอื่นๆ นอกโต๊ะ เช่น โป๊ะไฟ ชอล์คฝนหัวคิว หรือร่างกายของผู้เล่น ถือว่าเป็นลูกตกโต๊ะเช่นกันแม้ว่าจะกระเด็นกลับมาอยู่บนโต๊ะก็ตาม ลูกที่วิ่งขึ้นไปบนขอบชิ่ง แล้วตกกลับลงมาบนโต๊ะ หรือวิ่งลงหลุมไป ไม่ถือว่าเป็นลูกตกโต๊ะ
8.6   แทงเปลี่ยน
การแทงให้ลูกคิวบอลวิ่งลงหลุมไป เรียกว่า เป็นการ “แทงเปลี่ยน”
8.7   ลูกคิวบอล
“ลูกคิวบอล” คือ ลูกที่ใช้ในการแทงโดยไม้คิวจากผู้เล่น โดยส่วนใหญ่จะมีสีขาว และอาจจะมีจุดหรือโลโก้แสดงอยู่บนลูกได้ ในการเล่น Pocket Billiards ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะใช้ “ลูกคิวบอล” ลูกเดียวกัน
8.8   ลูกเป้า
“ลูกเป้า” คือ ลูกที่ผู้เล่นแทง “ลูกคิวบอล” ไปกระทบ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ “ลูกเป้า” นั้นวิ่งไปลงหลุม โดยปรกติจะมีหมายเลขระบุไว้บนลูกตั้งแต่หมายเลข 1 ไปจนถึงหมายเลขที่ต้องใช้ในการเล่นเกมนั้นๆ สีและรายละเอียดของลูกเป้า ระบุไว้ในคู่มืออุปกรณ์การแข่งขันของ WPA (WPA Equipment Specifications)
8.9   การเล่นเป็นเซ็ท (Set)
ในการแข่งขันบางประเภท จะมีการแบ่งการเล่นออกเป็น “เซ็ท” โดยผู้ที่ชนะใน “แมตช์” นั้นๆ จะต้องทำ “จำนวนเซ็ท” ให้ได้ตามที่กำหนด “การแบ่งเซ็ท” ทำได้ด้วยการระบุจำนวนคะแนนและจำนวนเกมที่ผู้เล่นชนะ เพื่อที่จะให้ได้ 1 เซ็ท
8.10 แร็ค (Rack)
“แร็ค” คือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการตั้งลูกเพื่อใช้ในการแทงเปิดของแต่ละเกม โดยทั่วไปจะเป็นทรงสามเหลี่ยม และยังหมายถึง “การตั้งลูกใหม่”ด้วย “การแร็คลูก” หมายถึงการตั้งลูกโดยใช้แร็ค นอกจากนี้คำว่า “แร็ค” ยังหมายถึง การเล่นส่วนหนึ่งของ “แมตช์” การแข่งขันด้วย ในเกมบางเกม เช่นพูล 9 ลูก 1 เกม มีความหมายเท่ากับ 1 แร็ค นั่นเอง
8.11 เบรค (Break)
“การเบรค” หมายถึง การแทงในไม้เปิดของแต่ละ “เกม” หรือแต่ละ “แร็ค” ขึ้นอยู่กับประเภทของเกมนั้นๆ การแทงเปิดจะเกิดขึ้นเมื่อ “ลูกเป้า” มีการนำไปตั้งรวมกลุ่มกัน เพื่อเริ่มเกมใหม่ แล้วให้ผู้เล่นแทง “ลูกคิวบอล” ออกไปจาก “หลังเส้นเมือง” โดยมีจุดประสงค์ในการแทงลูกกลุ่มให้แตกออกมา
8.12 อินนิ่ง (Inning)
“อินนิ่ง” หมายถึง “เที่ยวแทง” ที่ผู้เล่นสลับกันออกมาแทง “อินนิ่ง” จะเริ่มขึ้นเมื่อผู้เล่น ถึง “เที่ยวแทง” ที่จะออกมาแทงได้ตามกติกา และจบลงเมื่อผู้เล่นหมดสิทธิ์ที่จะได้เล่นต่อใน “เที่ยวแทง” นั้นแล้ว ในเกมบางประเภท ผู้เล่นอาจปฏิเสธ “เที่ยวแทง” ของตนได้ โดยให้ผู้เล่นอีกฝ่ายเล่นต่อไป (เช่น ในกรณีการเล่น “Push out” ในพูล 9 ลูก) ผู้เล่นที่ถึง “เที่ยวแทง” จะเรียกว่า “Shooter”
8.13 ตำแหน่งของลูก
“การตั้งตำแหน่งของลูก” กำหนดให้วัดจากจุดกึ่งกลางของลูกในแนวตั้งลงมายังพื้นผิวของโต๊ะ ลูกที่ระบุว่าอยู่บนเส้นหรือจุด หมายถึง จุดกึ่งกลางของลูกในแนวตั้งอยู่ตรงกับเส้น หรือจุดนั้นพอดี
8.14 ลูกที่นำกลับมาตั้งใหม่
ในเกมบางประเภท อาจจะต้องมีการนำลูกเป้ากลับมาตั้งบนโต๊ะ นอกเหนือจากการนำลูกทั้งหมดกลับมาตั้งใหม่ เรียกว่า “การตั้งลูกที่จุด” ดู ข้อ 1.4 การนำลูกกลับมาตั้ง
8.15 นำลูกกลับมาตั้งที่ตำแหน่งเดิม
หากลูกบอลมีการถูกทำให้เคลื่อนไหวนอกเหนือจากการแทงตามปรกติ กติกาอาจระบุให้นำลูกกลับมาตั้งยังจุดเดิมก่อนมีการเคลื่อนไหว โดย “ผู้ตัดสิน” จะต้องพยายามตั้งลูกให้ใกล้เคียงตำแหน่งเดิมให้มากที่สุด
8.16 การแทงลูกกระโดด
“การแทงลูกกระโดด” หมายถึง การแทงที่ทำให้ “ลูกคิวบอล” มีการกระโดดข้ามลูกที่กีดขวางอยู่ ซึ่งอาจเป็น “ลูกเป้า” หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของชิ่ง การแทงจะถูกกติกาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเจตนา วัตถุประสงค์ของผู้เล่น และผลที่ออกมา โดยปรกติ “การแทงลูกกระโดด” จะแทงโดยการยกด้ามคิวขึ้นสูงแล้วแทงลงมายัง “ลูกคิวบอล” เพื่อให้ “ลูกคิวบอล” สะท้อนกลับขึ้นไป
8.17 การแทงลูกป้องกัน (Safety Shot)
ในเกมที่ต้องมีการขานลูกและหลุม ผู้เล่นอาจทำการขานวิธีการเล่นเพื่อเป็นการป้องกันได้ ด้วยการขานคำว่า “Safety” ก่อนการออกคิวในไม้นั้นๆ ซึ่งมีผลทำให้เที่ยวแทงของผู้เล่นจะสิ้นสุดลงหลังจากที่ได้แทงไม้นั้นออกไป
8.18 แทงมิสคิว (แทงแป้ก)
“การแทงมิสคิว” หรือ “การแทงแป้ก” เกิดขึ้นจากการที่หัวคิวแทงมีการสไลด์ออกไปด้านข้างของ “ลูกคิวบอล” ที่อาจเกิดจากการแทงไซด์ หรือผู้เล่นอาจฝนหัวคิวไม่ดีพอ ส่วนใหญ่จะมีเสียงดังแปลกๆ และหัวคิวอาจเสียหายได้ บางครั้ง “การแทงมิสคิว” อาจเป็นการแทงที่เกิดจากการสัมผัสของไม้คิวด้านข้าง ซึ่งหากไม่เห็นอย่างชัดเจน อาจไม่รู้ว่ามีการ “แทงมิสคิว” เกิดขึ้น การแทงงัด ที่แทงให้หิวคิวแทงโดนผ้าปูโต๊ะและ “ลูกคิวบอล” ในเวลาเดียวกัน ซึ่งอาจทำให้ “ลูกคิวบอล” กระเด็นลอยขึ้นจากผ้าปูโต๊ะได้ ถือว่าเป็น “การแทงมิสคิว” เช่นกัน