กฎ-กติกา กีฬาพูลบิลเลียด ของ World Pool-Billiards Association (WPA)


1. กติกาทั่วไป

กติกาฉบับนี้เป็นกติกาสากลทั่วไปที่สามารถใช้ได้กับกีฬาพูลทุกประเภท ยกเว้นจะมีการกำหนดกติกาพิเศษขึ้นมาในการแข่งขันต่างๆ ตามแต่จะตกลงกัน กติกาของพูล-บิลเลียดฉบับนี้ครอบคลุมกติกาของเกมพูลโดยรวมไม่ได้เจาะจงไปทางด้านข้อมูลของอุปกรณ์ และการจัดการแข่งขัน

กีฬาพูล-บิลเลียดเป็นกีฬาที่เล่นบนโต๊ะทีมีผิวเรียบปูด้วยผ้าและมีขอบโต๊ะที่บุไว้ด้วยยางคุชชั่น เรียกว่า “ชิ่ง” ผู้เล่นจะใช้ไม้ (ไม้คิว) แทง “ลูกคิวบอล” เพื่อไปกระทบ “ลูกเป้า” โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ “ลูกเป้า” ลงหลุมที่มีอยู่ 6 หลุมที่อยู่ในตำแหน่งรอบๆ โต๊ะ เกมจะมีวิธีการเล่นที่แตกต่างกันออกไปว่าลูกใดจะเป็น “ลูกเป้า” ที่ถูกกติกาในการที่จะชนะในเกมแข่งขัน

1.1   ความรับผิดชอบของผู้เล่น
ผู้เล่นจำเป็นต้องเรียนรู้กฏ-กติกาของกีฬาพูลทุกข้อที่จะใช้ในการแข่งขัน โดยคณะกรรมการจัดการแข่งขันจะมีข้อมูลเกี่ยวกับการแข่งขันให้ทราบ แต่เป็นหน้าที่ของผู้เล่นที่จะต้องศึกษาให้ถี่ถ้วน
1.2   การขึ้นชิ่งเพื่อจัดลำดับผู้เล่น
การเสี่ยงทายด้วยการ “ขึ้นชิ่ง” ถือเป็นการแทงเพื่อหาลำดับในเที่ยวแทงของผู้เล่นก่อนการแข่งขัน ผู้เล่นที่ชนะในการ “ขึ้นชิ่ง” มีสิทธิ์เลือกว่าจะให้ผู้เล่นคนใดเล่นก่อน ผู้ตัดสินจะวางลูกไว้หลัง “เส้นเมือง (Head String)” ด้านละ 1 ลูกให้ใกล้กับ “เส้นเมือง” มากที่สุด ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะต้องแทงลูกออกไปพร้อมๆ กันให้กระทบชิ่งบนแล้วให้ลูกกลับมาให้ใกล้ชิ่งล่างให้มากกว่าคู่แข่งขัน การ “ขึ้นชิ่ง” จะถือว่าไม่ถูกกติกา และจะถูกปรับแพ้เมื่อ
  1. “ลูกคิวบอล” ที่แทงออกไป วิ่งข้าม “เส้นแบ่งข้างโต๊ะ (Long String)” เข้าไปยังฝั่งของคู่แข่งขัน
  2. สัมผัสกับชิ่งบนมากกว่า 1 ครั้ง
  3. ลงหลุมหรือตกออกจากโต๊ะ
  4. สัมผัสกับชิ่งทางด้านข้าง หรือ
  5. “ลูกคิวบอล” ไปหยุดอยู่ในตำแหน่งมุมของปากหลุม ผ่านจมูกของชิ่งล่าง
หมายเหตุ: การ “ขึ้นชิ่ง” จะใช้ไม่ได้ หากมีการ “ทำฟาล์ว” อย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น นอกเหนือจากกฏ ข้อ 6.9 การแทงในขณะที่ลูกยังไม่หยุดนิ่ง ผู้เล่นจะต้อง “ขึ้นชิ่ง” ใหม่อีกครั้ง เมื่อ:
  1. ผู้เล่นแทงลูกออกไปไม่พร้อมกัน และลูกแรกที่แทงออกไปได้กระทบชิ่งบนก่อนผู้เล่นคนที่สองจะได้แทงลูก
  2. “ผู้ตัดสิน” ไม่อาจสรุปได้ว่าลูกของผู้เล่นคนใดใกล้ชิ่งล่างมากที่สุด
  3. ผู้เล่นแทงผิดกติกาทั้งคู่
1.3   การใช้อุปกรณ์ต่างๆ ของผู้เล่น
อุปกรณ์ต่างๆ ที่ผู้เล่นนำมาใช้จะต้องเป็นอุปกรณ์ที่ถูกต้องตามกฏข้อบังคับของ WPA โดยทั่วไปแล้ว ผู้เล่นจะไม่ได้รับอนุญาตให้นำอุปกรณ์แปลกใหม่ที่ไม่เป็นที่รู้จักเข้ามาใช้ในการแข่งขัน อุปกรณ์ที่ผู้เล่นทั่วปใช้กันอยู่แล้ว ถือเป็นอุปกรณ์ปรกติที่อนุญาตให้นำมาใช้ได้ หากผู้เล่นไม่แน่ใจว่าอูปกรณ์ที่นำมาใช้จะผิดกติกาหรือไม่ ผู้เล่นควรให้ทางคณะกรรมการตรวจสอบอุปกรณ์ดังกล่าวก่อนการแข่งขันให้เรียบรอย อูปกรณ์ที่ใช้จะต้องเป็นอุปกรณ์ที่ทำมาใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการในกรณีนั้นๆ (ดูกติกาข้อ 6.16 การกระทำอันไม่เป็นสุภาพบุรุษ)
  1. ไม้คิว – ผู้เล่นสามารถเปลี่ยนไม้คิวที่ใช้ในระหว่างการแข่งขันได้ เช่น ในการแทงเปิด แทงลูกกระโดด หรือในการแทงทั่วไป ผู้เล่นสามารถใช้ด้ามต่อที่ทำให้ไม้คิวยาวขึ้นเพื่อการแทงได้
  2. ชอล์ค – ผู้เล่นต้องใช้ชอล์คฝนหัวคิว และสามารถนำชอล์คของตนเองมาใช้ได้ ตราบใดที่สีของชอล์คไม่แตกต่างจากผ้าปูโต๊ะมากจนเกินไป
  3. เรสต์ – ผู้เล่นสามารถใช้เรสต์ได้ไม่เกิน 2 อันในการแทง โดยอาจนำมาเองได้หากไม่มีอะไรที่แตกต่างจากเรสต์ทั่วไป
  4. ถุงมือ – ผู้เล่นอาจใส่ถุงมือ เพื่อช่วยในการแทง หรือในการวางสะพานมือได้
  5. แป้งฝุ่น – ผู้เล่นอาจใช้แป้งฝุ่นช่วยในการเดินคิวได้หากใช้ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ตัดสิน
1.4   การนำลูกกลับมาตั้ง
ลูกที่จะต้องถูกนำกลับมาตั้ง จะนำมาตั้งลงบน “เส้นแบ่งข้างของโต๊ะ (Long String)” โดยให้อยู่ใกล้ “จุดสปอต (Foot Spot)” มากที่สุดเหลื่อมไปทางชิ่งบน โดยต้องไม่ทำให้มีลูกอื่นลูกใดบนโต๊ะขยับ หากลูกไม่สามารถตั้งบน “Foot Spot” ได้ ให้นำลูกไปวางในตำแหน่งที่กล่าวมาแล้ว โดยอาจสัมผัสกับลูกอื่นได้ แต่ต้องไม่ทำให้เคลื่อนไหว และต้องไม่สัมผัสกับ “ลูกคิวบอล” หาก “ลูกคิวบอล” อยู่ในพื้นที่ที่กีดขวางตำแหน่งของลูกที่ตั้งอยู่ หากไม่มีตำแหน่งว่างให้ตั้งเหลื่อมมาทางชื่งบนได้ ให้นำลูกไปตั้งในทิศทางตรงข้ามของจุด “Foot Spot” โดยให้อยู่ในแนวเส้นตรงใกล้กับจุด “Foot spot” ให้มากที่สุด
1.5   การเล่นลูกในมือ
เมื่อผู้เล่นได้เล่น “ลูกจากในมือ (Ball in hand)” ผู้เล่นสามารถวาง “ลูกคิวบอล” ลงบนตำแหน่งใดบนโต๊ะก็ได้ (ดูกติกา ข้อ 8.1 ส่วนต่างๆ ของโต๊ะ) และยังคงสามารถขยับตำแหน่งใหม่ได้จนกว่าจะมีการแทงออกไป (ดูกติกา ข้อ 8.2 การแทง) ผู้เล่นอาจใช้ส่วนหนึ่งส่วนใดของไม้คิวในการขยับตำแหน่งของ “ลูกคิวบอล” ได้ ้กระทั่งหัวคิว แต่ไม่ใช่ในลักษณะการดันออกไปข้างหน้าด้วยหัวคิว ในการแทงเปิดของเกมบางเกม ตำแหน่งของ “ลูกคิวบอล” จะถูกกำหนดให้อยู่ในพื้นที่หลัง “เส้นเมือง (Head String)” โดยขึ้นอยู่กับกติกาของเกมนั้นๆ และให้นำกฏ ข้อ 6.10 การวางลูกคิวบอลผิดตำแหน่ง และ ข้อ 6.11 การแทงลูกผิดกติกาจากบริเวณในเมือง มาใช้ด้วย เมื่อผู้เล่นได้เล่น “ลูกในมือ” หลัง “เส้นในเมือง” และ “ลูกเป้า” ทั้งหมดวางอยู่หลัง “เส้นเมือง” ผู้เล่นสามารถขอให้ “ผู้ตัดสิน” นำ “ลูกเป้า” ที่อยู่ใกล้ “เส้นเมือง” มากที่สุดมาตั้งใหม่ที่จุดได้ หากมีมากกว่า 1 ลูกที่มีระยะห่างจาก “เส้นเมือง” เท่าๆ กัน ผู้เล่นสามารถเลือกได้ว่าจะให้นำลูกใดไปตั้ง “ลูกเป้า” ที่อยู่บน “เส้นเมือง” พอดี ถือเป็นลูกที่สามารถเล่นได้
1.6   มาตรฐานการขานลูกและหลุม
ในเกมที่ผู้เล่นต้องมีการขานลูกและหลุมก่อนการแทง ผู้เล่นจะต้องระบุลูกและหลุมที่จะเล่นก่อนการแทงทุกครั้ง ยกเว้นลูกที่มีความชัดเจน รวมทั้งเส้นทางในการแทงและขั้นตอนในการแทงด้วย ว่าจะเข้าชิ่งก่อน หรือไปโดนลูกอื่นแล้วทำให้ลงหลุมไปหรือไม่ ผู้เล่นสามารถระบุลูกที่จะตบได้เพียง 1 ลูก “ผู้ตัดสิน” จะพิจารณาว่าลูกที่ผู้เล่นแทงลงไปเป็นลูกที่ก้ำกึ่งหรือชัดเจน ผู้เล่นจะต้องระบุให้ทราบก่อนทุกครั้ง โดยเฉพาะลูกที่ต้องเกี่ยวข้องกับการกระทบชิ่ง หรือสัมผัสกับลูกอื่นก่อนลงหลุม หาก “ผู้ตัดสิน” ไม่แน่ใจว่าผู้เล่นจะเล่นอย่างไร “ผู้ตัดสิน” มีสิทธิ์ที่จะสอบถามได้ ในเกมที่ต้องมีการขานหลุม ผู้เล่นสามารถเล่นลูก “Safety” โดยการขานคำว่า “Safety” ก่อน ซึ่งจะทำให้“เที่ยวแทง” ของผู้เล่นยุติลงหลังจากแทงออกไป ลูกที่ถูกตบลงหลุมไปจะนำกลับมาตั้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกติกาของเกมนั้นๆ
1.7   การหยุดของลูกหลังเที่ยวแทง
ในกรณีที่ลูกมีการขยับเล็กน้อยหลังจากที่หยุดแล้ว ซึ่งอาจจะเกิดจากรอยบนผ้าหรือพื้นผิวของโต๊ะที่ไม่เรียบ ให้ถือว่าการเคลื่อนไหวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการแทง ยกเว้นหากการเคลื่อนไหวนั้นทำให้ลูกเกิดตกหลุมลงไป ให้ “ผู้ตัดสิน” นำลูกกลับมาตั้งใหม่ให้ใกลกับตำแหน่งเดิมให้มากที่สุด หาก “ลูกเป้า” ตกหลุมไปเองในระหว่างที่ “ลูกคิวบอล” ได้ถูกแทงออกไปแล้ว ซึ่งทำให้มีผลต่อการแทงในไม้นั้น “ผู้ตัดสิน” จะต้องนำลูกทั้งหมดกลับมาตั้ง แล้วให้ผู้เล่นแทงใหม่อีกครั้ง ผู้เล่นจะไม่ถกปรับแต้ม ในกรณีที่ลูกมีการเคลื่อนไหวด้วยตนเอง (ดูกติกา ข้อ 8.3 ลูกลงหลุม)
1.8   การนำลูกกลับมาตั้งโดยผู้ตัดสิน
เมื่อใดก็ตามที่“ผู้ตัดสิน” จำเป็นต้องนำลูกกลับมาตั้งหรือทำความสะอาด “ผู้ตัดสิน” จะต้องนำลูกกลับไปตั้งในตำแหน่งที่เหมือนเดิมมากที่สุด และผู้เล่นต้องยอมรับในดุลยพินิจของ “ผู้ตัดสิน” ในตำแหน่งที่นำกลับไปตั้งใหม่นั้นๆ
1.9   การรบกวนจากภายนอก
หากเกิดมีการรบกวนใดๆ ขึ้นที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับผู้เล่น แต่มีผลในเที่ยวแทงนั้นๆ “ผู้ตัดสิน” จะนำลูกกลับมาตั้งที่จุดเดิมให้ใกล้เคียงที่สุด แล้วให้ผู้เล่นแทงใหม่อีกครั้ง หากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้รบกวนหรือเกี่ยวข้องกับการเล่น “ผู้ตัดสิน” จะขยับลูกที่ถูกรบกวนกลับไปยังตำแหน่งเดิม แล้วให้ผู้เล่นเล่นต่อไป หากลูกที่ถูกรบกวนมีปัญหาไม่สามารถนำกลับไปตั้งใหม่ได้ “ผู้ตัดสิน” อาจตกลงกับคู่แข่งขัน ให้เริ่มเล่นเกมนั้นใหม่อีกครั้ง
1.10 การโต้แย้งในกติกาหรือผู้ตัดสิน
หากผู้เล่นมีความข้องใจว่า “ผู้ตัดสิน” ทำการตัดสินผิดพลาด ผู้เล่นอาจทักท้วง เพื่อให้ “ผู้ตัดสิน” พิจารณาการตัดสินใหม่ให้ถูกต้อง และหาก “ผู้ตัดสิน” ยังยืนยันการตัดสินนั้น ให้ถือเป็นเด็ดขาด และหากผู้เล่นยังเห็นว่า “ผู้ตัดสิน” ยังมีความผิลาดอยู่ ผู้เล่นอาจเรียกร้องให้คณะกรรมการจัดการแข่งขันเข้ามาช่วยคลี่คลายข้อกังขาได้ “ผู้ตัดสิน” จะหยุดการแข่งขันไว้ระยะหนึ่งในขณะที่มีการตรวจสอบกติกาและคำตัดสินนั้นๆ (ดูกติกา หัวข้อ (4) ในข้อ 6.16 การกระทำอันไม่เป็นสุภาพบุรุษ) การทำฟาล์วจะต้องมีการขาฟาล์วในทันที (ดู ข้อ 6 การทำฟาล์ว)
1.11 การยอมแพ้
หากผู้เล่นยอมแพ้ ถือว่าผู้เล่นแพ้ใน “แมตช์” นั้น เช่น ถ้าผู้เล่นถอดไม้คิวออกจากกันในขณะที่คู่แข่งขันเล่นอยู่ที่โต๊ะ ในขณะที่การแข่งขันอยู่ในช่วงที่กำลังจะมีการแพ้-ชนะ การกระทำเช่นนี้ถือว่าผู้เล่นต้องการยอมแพ้แล้ว ถือว่าเกมการแข่งขันจบสิ้นลงทันที
1.12 การเล่นในจุดอับ
เมื่อ “ผู้ตัดสิน” เห็นว่า ตำแหน่งของลูกบนโต๊ะอยู่ในตำแหน่ง “จุดอับ” ที่ไม่มีผู้เล่นผู้หนึ่งใดยอมเปลี่ยนการเล่น และทำให้เกมยืดเยื้อ “ผู้ตัดสิน” จะให้โอกาสผู้เล่นอีกคนละ 3 ครั้ง หากสถานการณ์ยังเหมือนเดิม “ผู้ตัดสิน” จะสอบถามผู้เล่นทั้งคู่ ว่ายินยอมให้ตั้งลูกเล่นใหม่หรือไม่ ทั้งนี้ อาจทำได้โดยไม่ต้องแทงอีกคนละ 3 ไม้ กติกาในข้อนี้มีระบุไว้ในเกมพูลแต่ละเกมด้วย